วิสาหกิจชุมชนฯ พืชผักสมุนไพรและผลไม้ บ้านโฮ่ง คว้ารางวัล “สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 65” จากการพัฒนา เน้นการมีส่วนร่วม ใช้ตลาดนำการผลิต และBCG Model ทำสมาชิกมั่งคั่งอย่างยั่งยืน


นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ ตั้งอยู่เลขที่ 141/1 หมู่ 3 ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเกษตรกร ในปี พ.ศ. 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ภูมิปัญญา การพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ พร้อมแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ด้วยการใช้ตลาดนำการผลิต และผลิตตามแนวทาง BCG Model โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน และสำนักงานเกษตรอำเภอบ้านโฮ่ง เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุน ส่งผลให้สมาชิก 46 ราย ที่ปลูกพืชชนิดต่าง ๆ แบบเกษตรอินทรีย์ เช่น ลำไย มะม่วง  สตรอเบอรี่ กระเทียม หอมแดง พืชผัก บนพื้นที่ 530 ไร่ สามารถสร้างผลผลิตรวมถึงสินค้าแปรรูปต่าง ๆ อย่างมีคุณภาพ ได้รับรองมาตรฐานทั้ง Organic Thailand, IFOAM, อย., EU และ HALAL เกิดการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ส่งผลให้แต่ละปีสามารถจัดแบ่งเงินปันผลให้สมาชิกได้ถึงร้อยละ 35 ขณะที่สินทรัพย์ปัจจุบัน มีมูลค่ารวม 10,793,344.51 บาท 

“ จากการขับเคลื่อนกิจกรรมจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ไม่ว่าด้านบริหารจัดการ ความคิดสร้างสรรค์ที่ทันสมัย การสร้างความร่วมมือประสานหน่วยงานภาคี สถาบันการศึกษา ที่นำมาสู่แนวโน้มการพัฒนาที่ยั่งยืน วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ จึงได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เข้ารับรางวัล สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ประเภทวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงคุณค่าที่มอบให้ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณ และเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักยึดถือเป็นแบบอย่างตามแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตรโดยจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัล ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง วันที่ 13 พ.ค.นี้ ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ด้าน ว่าที่ ร.ต.ชนะ ไชยชนะ ประธานวิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยกำหนดวิสัยทัศน์ พัฒนาผลิตภัณฑ์  พัฒนาองค์กร สู่วิถีเกษตรยั่งยืน” ด้วยการใช้ตลาดนำการผลิต ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการจัดทำบัญชีข้อมูลการผลิต สร้างผลผลิตที่หลากหลาย และทำได้ทั้งปี รวมทั้งเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป และเพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย นอกจากนี้ยังนำ BCG Model  เข้ามาร่วมการพัฒนา โดยด้านเศรษฐกิจรากฐานชีวภาพ เน้นใช้วัตถุดิบหลากหลายผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปกว่า 30 ชนิด เช่น กระเทียมดำ หอมแดงดำ ผลไม้ฟรีซดรายทั้งลำไย กล้วย มะม่วง ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นผลิตแบบ Zero waste เช่น การทำเยลลี่มะม่วง ถ่านอัดก้อน และด้านเศรษฐกิจสีเขียว เน้นการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ 

ที่สำคัญอีกประการ คือ เน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิก ทั้งการแสดงความคิดเห็น ร่วมวางแผนงานในรูปแบบการประชุมที่มีบันทึกการประชุมเป็นหลักฐานชัดเจน โดยกำหนดประชุมทุกวันที่ 2 ของเดือน พร้อมจัดตั้งไลน์กลุ่ม เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารให้รับทราบอย่ต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนให้ทายาทสมาชิกที่กลับบ้าน เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ COVID – 19 เข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการเพิ่มช่องทางตลาด จากเดิมที่จำหน่ายผ่านพ่อค้า และผ่านร้านในตลาดเกษตรกรที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน  โดยเข้ามาช่วยศึกษาเรื่องส่งออก การเจรจากับตลาดต่างประเทศ การขายออนไลน์ และสร้างเว็บไซต์ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน สมาชิกไม่มีความเสี่ยงในการประกอบอาชีพ สามารถชำระหนี้สิน และมีเงินออม มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ว่าที่ ร.ต.ชนะ กล่าว 



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คอลัมน์เรื่องจริงกับ “พญาต่อ” ฮั้วสว.รับรองไปก่อน แล้วค่อยสอย จริงหรือ.!!

คอลัมน์เรื่องจริงกับ “พญาต่อ” ยินดีกับ”สว.”ใหม่ป้ายแดงและขอ แช่งพวกโกงฮั้ว.!!

”เด็จพี่ ดร.พร้อมพงศ์ ” ร่วมกับศูนย์ประสานงานภาคประชาชนแจกข้าวสาร 775 ครัวเรือนเพื่อทำบุญสะเดาะเคราะห์ให้อดีตนายกทักษิณ